วัคซีนโรต้า (Rota virus vaccine)

วัคซีนป้องกันโรคลำไส้อักเสบ เนื่องจากไวรัสโรต้า

ระบาดวิทยา

ไวรัสโรต้าซึ่งมีหลายสิบสายพันธุ์เป็นสาเหตุของโรคลำไส้อักเสบเฉียบพลันซึ่งพบได้บ่อยที่สุดในทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี กลุ่มอายุที่พบบ่อยที่สุดคือ 6-12 เดือน เป็นสาเหตุการตายของเด็กเล็กทั่วโลกมากกว่า 6 แสนรายต่อปี ส่วนใหญ่เป็นเด็กขาดอาหาร ในประเทศยากจน การสำรวจในประเทศไทย โรคอุจจาระร่วงในเด็กที่ต้องเข้าโรงพยาบาล มีสาเหตุมาจากไวรัสนี้ถึงร้อยละ 45 พบบ่อยในช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว พบสูงสุดในเดือนธันวาคมถึงมกราคม สายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยได้แก่ G1P[8], G2P[4], G2P[8], G3P[8], G9P[8]

การติดต่อ

โรคลำไส้อักเสบเนื่องจากไวรัสโรต้ามักพบแพร่ระบาดในศูนย์รับเลี้ยงเด็ก อุจจาระของเด็กที่ติดเชื้อมีไวรัสจำนวนมหาศาล ไวรัสทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี เชื้อกระจายในฝุ่นเปื้อนของเล่นและของใช้ต่าง ๆ และเข้าสู่ร่างกายเมื่อเด็กหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ ที่เปื้อนเชื้อเข้าปาก

อาการ

ระยะฟักตัวสั้นมาก น้อยกว่า 2 วัน ก็เริ่มมีไข้ อาเจียนในช่วง 2-3 วันแรก มีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำ มีฟอง มีกลิ่นเปรี้ยว ติดต่อกันนาน 3-8 วัน ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ส่วนใหญ่อาการจะหายได้เอง แต่รายที่รุนแรงอาจเสียชีวิตเพราะภาวะขาดน้ำ ภายหลังหายจากโรคแล้ว บางรายยังมีความผิดปกติของการดูดซึม เพราะเซลล์เยื่อบุผิวลำไส้ถูกทำลาย

เด็กที่เคยติดเชื้อแล้ว ยังอาจเกิดซ้ำได้อีกจากไวรัสต่างสายพันธุ์ แต่ความรุนแรงจะลดน้อยลงกว่าครั้งแรก ๆ เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ได้จากการติดเชื้อครั้งก่อน ลดความรุนแรงโรคได้

วัคซีนโรต้า

เป็นวัคซีนเชื้อมีชีวิตที่อ่อนกำลังมี 2 ชนิดคือ

1) RotaRix® หรือ RV1 ซึ่งเป็นไวรัสสายพันธุ์เดี่ยว (monovalent, G1P[8]) ที่แยกได้จากคนไข้ และทำให้อ่อนกำลังโดยเลี้ยงในเซลล์ไตลิงเพาะเลี้ยง (vero cell) ติดต่อกันหลายๆครั้ง ทำเป็นรูปผงแห้งในขวดปิดจุกยางมาพร้อมกับตัวทำละลาย 1 มล. บรรจุในหลอดพลาสติดคล้ายกระบอกฉีดยา (แต่อย่าเผลอสวมเข็มและให้โดยวิธีฉีด) กระจายผงยาในตัวทำละลายที่ให้มาคู่กัน ก่อนหยดใส่ปากทารก เด็กที่แพ้ยางไม่ควรเลือกใช้วัคซีนยี่ห้อนี้

2) RotaTeq® หรือ RV5 ประกอบด้วยไวรัสสายพันธุ์ผสม 5 ชนิด (multivalent reassortant rotavirus, G1P[4], G2P[4], G3P[4], G4P[4], G6P[8]) ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนยีนระหว่างไวรัสของวัวกับไวรัสที่ก่อโรคของคน ทำเป็นรูปยาน้ำในหลอดบีบพลาสติกบรรจุ 2 มล.

วัคซีนโรตาเป็นวัคซีนเผื่อเลือกที่มีประสิทธิภาพดีพอสมควรและปลอดภัย แต่วัคซีนยังมีราคาแพงและไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ทุกสายพันธุ์ แต่ช่วยลดความรุนแรงของโรคโดยลดอัตราตายและลดจำนวนเด็กป่วยหนักที่ต้องนอนโรงพยาบาล แต่เนื่องจากมีความชุกชุมโรคสูง ดังนั้นหากสามารถจ่ายได้ก็ควรให้บุตรหลานรับวัคซีนตามกำหนด ราคาโด๊สละประมาณพันกว่าบาท

ขนาดและวิธีบริหารวัึคซีน

วัคซีนทั้งสองชนิดให้โดยวิธีค่อยๆหยดเข้าปากเด็ก ตารางการให้วัคซีนตามปกติ RotaRix® ให้ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 มล. เมื่อทารกอายุ และเดือน ส่วน RotaTeq® ให้ 3 ครั้ง ครั้งละ 2 มล. เมื่อทารกอายุ เดือน เดือนและ เดือน วัคซีน ชนิด

กรณีเร่งด่วนวัคซีนโด๊สแรกอาจเริ่มให้ได้ตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ แต่อย่างช้าไม่เกินอายุ 14 สัปดาห์ วัน และต้องได้รับวัคซีนครบทุกโด๊สเมื่ออายุไม่เกิน 8 เดือน หากเกินกว่านี้ยังไม่มีข้อมูลเรื่องความปลอดภัย

ประสิทธิภาพของวัคซ๊น

ประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งสองชนิดไม่ต่างกัน สำหรับไวรัสสายพันธุ์ที่มี G1, G2, G3, G4 หรือ P[8] วัคซีนทั้งสองมีประสิทธิภาพป้องกันการเกิดโรคอย่างรุนแรงได้ร้อยละ 85-98 ป้องกันการเกิดโรคทุกขนาดความรุนแรงในฤดูกาลระบาดปีแรกที่รับวัคซีนร้อยละ 74-87

ภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งสามารถป้องการการเกิดโรคหรือลดความรุนแรงของโรคอันเกิดจากไวรัสโรต้าสายพันธุ์อื่นได้ ดังนั้นแม้สายพันธุ์ในวัคซีนจะไม่ตรงกับไวรัสที่ก่อโรคในภูมิภาคนั้น ๆ แต่วัคซีนยังให้ผลป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคได้

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงต่างๆภายหลังรับวัคซีน เช่น อาการปวดท้อง หรือถ่ายเหลวช่วงสั้น ๆ ไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน การเฝ้าระวังความปลอดภัยของวัคซีนหลังออกสู่ท้องตลาด มีรายงานในเม็กซิโก การรับวัคซีนโรต้าเพิ่มความเสี่ยงเล็กน้อย ที่จะเกิดลำไส้กลืนกัน (1 รายต่อวัคซีน 1 แสนโด๊ส) แทบทุกรายเกิดภายใน 7 วันหลังรับวัคซีนโด๊สแรก แต่ยังไม่มีรายงานในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีการใช้วัคซีนทั้งสองหลายล้านโด๊ส

แนะนำให้สังเกตความผิดปกติต่าง ๆ ภายหลังรับวัคซีนประมาณ 1 สัปดาห์ เช่น ทารกกรีดร้องเพราะอาการปวดท้องรุนแรง มีอาเจียนหลายครั้ง หรือมีเลือดในอุจจาระหรือไม่ และสังเกตุอาการแพ้วัคซีนอย่างรุนแรง เช่น ชีพจรเต้นเร็ว ซีด หายใจลำบากมีเสียงวิ๊ด ๆ หรือกลืนลำบาก หากเป็นเช่นนั้น ต้องส่งโรงพยาบาล และงดรับวัคซีนครั้งต่อไป

ข้อห้ามใช้

1. แพ้วัคซีนอย่างรุนแรง

2. ภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง (Severe Combined Immunodeficiency Disease, SCID).

3. มีประวัติเกิดลำไส้กลืนกัน

คำแนะนำ

1. เด็กที่จะรับวัคซีนโรต้าไม่ต้องงดนมแม่

2. เด็กที่รับวัคซีนปล่อยไวรัสในวัคซีนออกมากับอุจจาระได้นาน ล้างมือให้สะอาดภายหลังการเปลี่ยนผ้าอ้อม

3. ถ้าทารกเกิดติดเชื้อก่อนรับวัคซีนครบจำนวนครั้ง ให้รับวัคซีนต่อให้ครบตามกำหนด เพราะยังมีประโยชน์ในการลดความรุนแรงของโรคสำหรับการติดเชื้อครั้งต่อไป

4. หากทารกสำรอกภายหลังรับวัคซีน ไม่แนะนำให้รับวัคซีนซ้ำ เพราะเกรงปัญหารับเกินขนาด อาจทำให้เกิดลำไส้กลืนกัน


เรียบเรียงโดย ภญ.ผศ.ดร.สุนีย์ เตชะอาภรณ์กุล
Visitors: 107,139