วัคซีนรวม 6 โรค

         วัคซีนรวม 6 โรค

วัคซีนรวม 6 โรคมีประโยชน์อย่างไร ?

 1. มีประสิทธิภาพดี ในการสร้างภูมิต้านทาน ต่อ 6 โรคสำคัญ ได้แก่ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ตับอักเสบบี โปลิโอ และเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อ ฮิบ

 2. ลูกเจ็บตัวน้อยลง เพราะโดยปกติทารกวัย 1-6 เดือน ถ้าฉีดวัคซีนแยกชนิดเดี่ยวๆ จะต้องฉีด 5-8 เข็มกว่าจะครบตามกำหนดการให้วัคซีน แต่วัคซีนรวมนี้จะช่วยลดจำนวนการฉีดลงเหลือเพียง 3 เข็ม โอกาสที่ลูกจะได้รับวัคซีนครบถ้วนทุกโรคตามกำหนดโดยไม่ตกหล่นมีมากขึ้น


3. มีความปลอดภัยสูง เพราะมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงต่ำ เนื่องจากใช้วัคซีนไอกรนชนิดพิเศษที่เป็นชนิดไม่มีตัวเชื้อ (ไร้เซลล์-acellular) ซึ่งทำให้โอกาสเกิดไข้สูงหรือการร้องกวน หลังฉีดวัคซีนน้อยลงกว่าเดิม และวัคซีนโปลิโอเป็นชนิดฉีดซึ่งทำให้ไม่เกิดผลแทรกซ้อนทางระบบประสาทอย่างที่อาจจะพบได้ในวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน

4. มีความสะดวกและประหยัดกว่า เพราะลดความสับสนและยุ่งยากในการรับวัคซีน ลดค่าใช้จ่ายโดยรวมลง เนื่องจากถ้าฉีดวัคซีนชนิดแยกเดี่ยวๆ ทั้ง 6 ชนิดจะมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่สูงกว่าการใช้วัคซีนรวม 6 โรคเข็มเดียว และยังช่วยลดเวลาที่จะต้องพบแพทย์ 


    วัคซีนรวม 6 โรคในเข็มเดียวป้องกันโรคใดบ้าง, ทำไมต้องป้องกันโรค 6 ชนิดนี้ ?


     องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้แต่ละประเทศดำเนินการให้วัคซีนป้องกันโรคที่สำคัญ และสามารถแพร่เชื้อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้โดยง่าย อาจมีผลทำให้พิการหรือเป็นอันตรายถึงชีวิต จึงมีความพยายามผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ผลข้างเคียงน้อย และสามารถครอบคลุมโรคที่สำคัญๆให้ได้ เพื่อใช้ในทารก ซึ่งโรคที่สำคัญ 6 โรคนี้ได้แก่ โรคคอตีบ(Diphtheria) โรคไอกรน (Pertussis) โรคบาดทะยัก (Tetanus) โรคตับอักเสบบี (Hepatitis B ) โรคโปลิโอ (Polio) และโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบฮิบ (Hib)

 

โรคเหล่านี้มีการติดต่อและการดำเนินโรคอย่างไร ?


โรคคอตีบ  เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ติดต่อโดยการสัมผัสใกล้ชิด ไอจามรดกัน  ทำให้ผู้ป่วยมีไข้สูง มีการอักเสบบวมของอวัยวะต่างๆในลำคอ เห็นเป็นแผ่นหนองหนาๆในคอ ทำให้เกิดการหายใจลำบาก และเชื้อจะปล่อยพิษออกมาในกระแสเลือดทำให้มีอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและมีการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ รุนแรงจนเสียชีวิตได้


โรคไอกรน เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่นกัน สามารถแพร่จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ง่าย แต่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอรุนแรงติดๆกันเป็นชุดๆ จนหายใจลำบาก ทำให้ได้ยินเสียงไอในตอนท้าย เป็นเสียงหายใจเข้าดังเหมือนกรน  “ฮู้ปๆ” (whooping cough) หรือ ไอกรน(ไอร้อยวัน) ทำให้เด็กเล็กเกิดอันตรายจากการไอจัดจนสำลัก เกิดปอดบวม หรือมีอาการแทรกซ้อนทางสมอง ทำให้เกิดชัก สมองพิการ และอาจเสียชีวิตได้


โรคบาดทะยัก ติดต่อโดยการที่มีแผลสกปรก เช่น จากถูกของมีคม หรือตะปูตำทำให้เชื้อบาดทะยักสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ เชื้อจะสร้างพิษต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการเกร็งกระตุก ขากรรไกรแข็ง เจ็บปวดกล้ามเนื้อ ในอดีตทารกแรกเกิดจะติดเชื้อนี้จากการดูแลสะดือไม่ถูกต้อง เช่น การตัดสะดือด้วยของที่ไม่สะอาด หรือเอาแป้งที่อาจมีเชื้อบาดทะยัก ฯลฯ มาโรยสะดือ ทำให้มีอัตราตายสูง หรือในเด็กโตที่มักเล่นซน ทำให้เกิดแผลต่างๆได้ง่าย


โรคโปลิโอ ติดต่อได้ง่ายโดยการรับเชื้อเข้าทางปาก เช่น อาหาร น้ำดื่ม ที่ปนเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการ ทางระบบประสาท เช่น เกิดพิการแขนขาลีบอ่อนแรง เป็นอัมพาต และมีอาการสมองอักเสบ หายใจไม่ได้จากการที่สมองและกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจ เสื่อมสภาพไป จนเสียชีวิตในที่สุด 

     เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อจะขับถ่ายเชื้อออกมาในอุจจาระได้เป็นระยะเวลานานพอสมควร ดังนั้นจึงมีโอกาสเกิดการระบาดของโปลิโอได้บ่อยๆในที่ที่มีสุขอนามัยไม่ดี หรือเกิดน้ำท่วม อาหาร น้ำดื่มไม่สะอาด ปัจจุบันมีวัคซีนทั้งชนิดหยอดทางปาก และชนิดฉีด ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง สามารถป้องกันให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่เกิดอัมพาตหรือเสียชีวิตจากโรคโปลิโอได้


โรคฮิบ คือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจชนิดหนึ่งที่มีความรุนแรงมากในทารก ทำให้เกิดการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หูหนวก หรือติดเชื้อเข้าข้อ ปอดอักเสบ ฯลฯ ได้ ทำให้เด็กที่ติดเชื้อจะมีอาการไข้สูง ซึมลง ชักเกร็ง คอแข็ง และเสียชีวิตได้โดยง่าย เชื้อนี้เป็นเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ ฮีโมฟิลัส อินฟลูเอนซ่า ชนิด บี (Hemophilus influenza type b, Hib) จึงทำให้เรียกกันย่อๆว่า “ฮิบ”  พบว่ามีผู้ใหญ่หลายคนเป็นพาหะของเชื้อ โดยไม่มีอาการป่วยและสามารถแพร่ให้แก่คนอื่นๆโดยเฉพาะเด็กเล็กๆได้โดยง่าย


โรคตับอักเสบบี สามารถติดต่อจากแม่ไปสู่ลูกได้ง่าย ในรายที่แม่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี ทำให้ลูกน้อยติดเชื้อตับอักเสบบีอย่างเรื้อรัง และมีผลทำให้เกิดตับแข็ง ตับวาย หรือมะเร็งของตับได้ในที่สุด นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อจากการได้รับเลือดและสิ่งคัดหลั่ง ซึ่งในเด็กที่เล่นซนที่อาจมีบาดแผลมีเลือดออกขณะเล่นกัน ก็อาจจะทำให้แพร่เชื้อไวรัสตับอักเสบบีไปยังผู้อื่นได้โดยง่าย (ถ้าเด็กคนนั้นเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี)



นพ.ประสงค์ พฤกษานานนท์

คลินิกเด็ก.คอม

Visitors: 107,085