โรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

โรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

โรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน หมายถึง กลุ่มโรคติดต่อที่มีวัคซีนใช้เพื่อป้องกันการเกิดโรค ลักษณะการติดต่อของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนอาจแบ่งได้ ดังนี้

  1. โรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรควัณโรค คอตีบ ไอกรน หัด หัดเยอรมัน และคางทูม
  2. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือทางเลือด ได้แก่ โรคตับอักเสบไวรัสชนิดบี
  3. โรคติดต่อโดยการได้รับเชื้อทางอุจจาระเข้าสู่ปาก ได้แก่ โรคโปลิโอ
  4. โรคติดต่อโดยการได้รับเชื้อเข้าทางบาดแผล ได้แก่ บาดทะยัก
  5. โรคติดต่อนำโดยแมลง ได้แก่ โรคไข้สมองอักเสบเจอี

ในปัจจุบันการบริการวัคซีนเพื่อป้องกันโรคในประเทศไทย ถือเป็นบริการพื้นฐานที่รัฐ จัดให้แก่กลุ่มเป้าหมายโดยไม่คิดมูลค่า มีวัคซีนที่ให้บริการได้แก่ วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (DTP) วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี (HB) วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ (OPV) วัคซีนป้องกันโรคหัด (M) วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี (JE) และวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก (dT)

วัณโรค (Tuberculosis)

วัณโรคเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง ทำให้มีการอักเสบในปอด ซึ่งในผู้ใหญ่มักจะพบส่วนใหญ่เป็นที่ปอด ในเด็กอาจเป็นที่อวัยวะอื่นร่วมด้วย เช่น ต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มสมอง กระดูก สาเหตุเกิดจากเชื้อมัยโคแบคทีเรีย ซึ่งเป็นเชื้อทนกรด ย้อมติดสีแดง ซึ่งจะมีอยู่ในปอดของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา

โรคตับอักเสบบี (Hepatitis B)

โรคตับอักเสบเกิดได้จากเชื้อไวรัสหลายชนิด ที่พบบ่อยคือไวรัสเอ และไวรัสบี ซึ่งทั้งสองชนิดนี้ทำให้เกิดอาการคล้ายคลึงกัน แต่ระบาดวิทยาของโรคต่างกัน โรคตับอักเสบบีมีความรุนแรงมากกว่าโรคตับอักเสบเอ และมีโอกาสที่จะเป็นเรื้อรัง และเชื้อไวรัสบีจะนำไปสู่มะเร็งตับได้ ปัจจุบันมีวัคซีนที่ป้องกันโรคได้

โรคคอตีบ (Diphtheria)

โรคคอตีบเป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ มีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นในลำคอ ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ จึงได้ชื่อว่าโรคคอตีบ ซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้ และจากสารพิษของเชื้อจะทำให้มีอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจและเส้นประสาทส่วนปลาย สาเหตุของโรคคอตีบเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีรูปทรงแท่งและย้อมติดสีแกรมบวก มีสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดพิษและไม่ทำให้เกิดพิษ สารพิษที่ถูกขับออกมาจะชอบไปที่กล้ามเนื้อหัวใจและปลายประสาท ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งถ้าเป็นรุนแรงจะทำให้ถึงตาย

โรคบาดทะยัก (Tetanus)

โรคบาดทะยักเป็นโรคติดเชื้อที่จัดอยู่ในกลุ่มของโรคทางประสาทและกล้ามเนื้อ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียคลอสทิเดียม ซึ่งผลิตสารพิษต่อเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้มีการหดเกร็งตัวอยู่ตลอดเวลา เริ่มแรกกล้ามเนื้อขากรรไกรจะเกร็ง ทำให้อ้าปากไม่ได้ โรคนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "โรคขากรรไกรแข็ง" ผู้ป่วยจะมีคอแข็ง หลังแข็ง ต่อไปจะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ทั่วตัว ทำให้มีอาการชักได้ เชื้อคลอสทิเดียมเป็นแบคทีเรียชนิดไม่พึ่งออกซิเจน ย้อมติดสีแกรมบวก มีคุณสมบัติที่จะอยู่ในรูปแบบของสปอร์ที่ทนทานต่อความร้อนและยาฆ่าเชื้อหลายอย่าง เชื้อสามารถสร้างสารพิษที่ไปจับและมีพิษต่อระบบประสาท

โรคไอกรน (Pertussis)

โรคไอกรนเป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ และเกิดอาการไอ ที่มีลักษณะพิเศษคือ ไอซ้อนๆ ติดๆ กัน 5-10 ครั้ง หรือมากกว่านั้นจนเด็กหายใจไม่ทัน จึงหยุดไอ และมีอาการหายใจเข้าลึกๆ เป็นเสียงวู๊ป สลับกันไปกับการไอเป็นชุดๆ จึงมีชื่อเรียกว่า โรคไอกรน” บางครั้งอาการอาจจะเรื้อรังนานเป็นเวลา 2-3 เดือน เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุเป็นเชื้อที่เพาะขึ้นได้ยาก จะพบเชื้อได้ในลำคอในส่วนหลังโพรงจมูกของผู้ป่วยในระยะ 1-2 อาทิตย์แรก ก่อนเริ่มมีอาการไอเป็นชุดๆ

โรคโปลิโอ (Poliomyelitis)

โรคโปลิโอเป็นโรคที่มีความสำคัญมากโรคหนึ่ง เชื้อไวรัสโปลิโอทำให้เกิดการอักเสบของไขสันหลัง ทำให้เกิดอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อแขนขา ซึ่งในรายที่อาการรุนแรงจะทำให้มีความพิการตลอดชีวิต และบางรายอาจถึงเสียชีวิตได้ ในปัจจุบันอุบัติการณ์ของโรคโปลิโอได้ลดลงอย่างมาก เป็นผลจากการให้วัคซีนโปลิโอครอบคลุมได้ในระดับสูง สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสโปลิโอ ซึ่งมี ซีโรทัยป์ 1, 2 และ แต่ละชนิดอาจจะทำให้เกิดอัมพาตได้ พบซีโรทัยป์ ทำให้เกิดอัมพาต และเกิดการระบาดได้บ่อยกว่าซีโรทัยป์อื่นๆ เมื่อติดเชื้อชนิดหนึ่งแล้วจะมีภูมิคุ้มกันถาวรเกิดขึ้นเฉพาะต่อซีโรทัยป์นั้น ไม่มีภูมิต้านทานต่อซีโรทัยป์อื่น

โรคหัด (Measles)

โรคหัดเป็นโรคไข้ออกผื่นที่พบบ่อยในเด็กเล็ก นับว่าเป็นโรคที่มีความสำคัญมากโรคหนึ่ง เพราะอาจมีโรคแทรกซ้อนทำให้ถึงเสียชีวิตได้ สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งอยู่ในตระกูลพารามิกโซไวรัส โดยเป็นอาร์เอ็นเอไวรัส ที่พบได้ในจมูกและลำคอของผู้ป่วย

โรคคางทูม (Mumps)

โรคคางทูมเป็นการติดเชื้อและมีการอักเสบของต่อมน้ำลายที่อยู่บริเวณกกหูทำให้ที่บริเวณคางบวม จึงได้ชื่อว่าคางทูม พบในเด็กเป็นส่วนใหญ่ สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งอยู่ในกลุ่มพารามิกโซไวรัส

โรคหัดเยอรมัน (Rubella)

โรคหัดเยอรมันเป็นโรคไข้ออกผื่นชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอาการไม่รุนแรงในเด็ก แต่เป็นโรคที่มีความสำคัญ เพราะถ้าสตรีมีครรภ์เป็นโรคหัดเยอรมันในระยะ 3-4 เดือนแรก เชื้อไวรัสจะผ่านไปยังทารกในครรภ์ ทำให้เกิดความพิการทางหู ตา หัวใจ และสมอง โรคหัดเยอรมันสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน สาเหตุเกิดจากไวรัส Rubella เป็น RNA ไวรัส ซึ่งจัดอยู่ในตระกูลโทกาไวรัส และในกลุ่มรูบิไวรัส

โรคไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis)

โรคไข้สมองอักเสบอาจเกิดจากเชื้อไวรัสได้หลายชนิด แต่ที่พบในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อไวรัสเจอี (JE) ซึ่งทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ อัตราป่วยตาย อยู่ระหว่างร้อยละ 20-30 ประมาณสองในสามของผู้รอดชีวิต จะมีความพิการเหลืออยู่ โรคนี้นำโดยยุงคิวเล็กซ์ สาเหตุเกิดจากไวรัสเจอี ซึ่งจัดอยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส และอยู่ในกลุ่มเดียวกับไวรัสไข้เลือดออกเดงกี่

ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

Visitors: 107,087